ช่วงเดือนนี้พบว่าเป็นช่วงที่โรคไข้เลือดออกกำลังระบาดหนัก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยจากโรคไข้เลือดออกมากกว่า 12,700 คน รวมถึงดารานักแสดงขวัญใจมหาชนอย่าง ปอ ทฤษฎี ก็ถูกหามส่งโรงพยาบาล ด้วยอาการของโรคไข้เลือดออกเช่นกัน
ไทยรัฐออนไลน์ ขอเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะช่วยส่งกำลังใจให้พระเอกหนุ่มและครอบครัว ให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ นอกจากอันตรายของโรคไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรคแล้ว รู้หรือไม่? ว่าประเทศไทยยังมียุงตัวร้ายที่เป็นพาหะนำโรคอื่นๆ อีกหลายชนิด
วันนี้เราเลยจะพาไปรู้จักยุงเหล่านี้ให้ดีขึ้น เพื่อที่คุณจะได้จำแนกแยกแยะให้ออกว่า ชนิดไหนเป็นตัวการนำไปสู่โรคอะไร จะได้ป้องกันและรักษาตัวเองได้ทันท่วงที ส่วนจะมียุงชนิดไหนบ้าง มาดูกัน
1. ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti)
เป็นพาหะสำคัญของโรคไข้เลือดออก พบบ่อยในเขตเมือง มีขนาดค่อนข้างเล็ก บินได้ว่องไว หนวดมีลายสีขาวรูปเคียว 2 อันอยู่ด้านข้าง มีขาลายชัดเจน
ยุงชนิดนี้เพาะพันธุ์ในภาชนะที่มีน้ำขังทั้งในและนอกบ้าน ชอบกินเลือดคนมากกว่ากินเลือดสัตว์ มักหากินเวลากลางวัน ช่วงสายและบ่าย ยุงลายชอบเข้ากัดคนทางด้านมืดหรือที่มีเงา โดยเฉพาะบริเวณขาและแขน ขณะที่กัดมักไม่ค่อยรู้สึกเจ็บ คนถูกกัดจึงไม่รู้สึกตัว มักเกาะพักตามมุมมืดในห้อง โอ่ง ไห หรือตามพุ่มไม้ที่เย็นชื้น
2. ยุงลายสวน (Aedes albopictus)
เป็นพาหะสำคัญของโรคไข้เลือดออกเช่นกัน พบได้ทั่วไปในเขตชานเมือง ชนบท และในป่า มีลวดลายที่หนวด แตกต่างจากยุงบ้าน คือมีแถบยาวสีขาวพาดผ่านตรงกลางหัว ยาวไปตามความยาวของลำตัว เพาะพันธุ์ในภาชนะที่มีน้ำขัง กระบอกไม้ โพรงไม้ กะลามะพร้าว ใบไม้ ฯลฯ มีอุปนิสัยคล้ายๆ กับยุงลายบ้าน แต่มีความว่องไวน้อยกว่า
3. ยุงรำคาญ (Culex)
เป็นพาหะที่สำคัญของไวรัสไข้สมองอักเสบและโรคเท้าช้าง พบบ่อยในเขตเมือง เป็นยุงสีน้ำตาลอ่อน เพาะพันธุ์ในน้ำเสีย ตามร่องระบายน้ำ คู และหลุมบ่อต่างๆ
ส่วนยุงรำคาญที่พบบ่อยในชนบท ได้แก่ ยุงชนิด Cx tritaeniorhynchus และชนิด Cx vishnu เนื่องจากมีท้องนาเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หลัก โดยเฉพาะช่วงที่ไถนา และบริเวณหญ้าแฉะรกร้าง จะชุกชุมมากในฤดูฝน ยุงชนิดนี้ชอบกัดและดูดเลือดสัตว์มากกว่าคน
นอกจากนี้ยังมียุงชนิด Armigeres เป็นยุงก่อความรำคาญเช่นกัน มักกัดในเวลาพลบค่ำ มีขนาดใหญ่ บินช้าๆ และกัดเจ็บ
4. ยุงก้นปล่อง (Anopheles)
เป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย ในประเทศไทยเท่าที่พบในปัจจุบันมียุงก้นปล่องอย่างน้อย 73 ชนิด แต่มีเพียง 3 ชนิดที่เป็นพาหะสำคัญ การสังเกตยุงชนิดนี้ทำได้ง่าย คือ เวลามันเกาะพัก จะยกก้นชี้ขึ้นเป็นปล่องสูงจากพื้น
ยุงก้นปล่องจะออกหากินเลือดในเวลากลางคืน พบได้บ่อยบริเวณป่าเขา เชิง เขา ป่าไร่ทั่วไป แหล่งเพาะพันธุ์ ได้แก่ ลำธารหรือลำห้วยที่น้ำไหลช้าๆ แหล่งน้ำซึม จะชุกชุมมากช่วงต้นฤดูฝน ในระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และปลายฤดูฝนเดือนกันยายน-พฤศจิกายน
5. ยุงเสือหรือยุงลายเสือ (Mansonia)
เป็นพาหะของโรคเท้าช้าง ลำตัวและขามีลวดลายค่อนข้างสวยงาม บางชนิดมีสีเหลืองขาวสลับดำ คล้ายลายของเสือโคร่ง บางชนิดมีลายออกเขียวคล้ายตุ๊กแก ยุงเหล่านี้ชอบเพาะพันธุ์ในบริเวณที่เป็นหนอง คลอง บึง สระ ที่มีพืชน้ำพวกจอกและผักตบชวา
ยุงลายเสือจะมีปีกแตกต่างจากยุงกลุ่มอื่น คือ เส้นปีกจะมีเกล็ดใหญ่สีอ่อนสลับเข้ม ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดเช่นกัน ทำให้ดูคล้ายมีฝุ่นผงเกาะติดทั่วตัว ขาลายเป็นปล้องๆ มักจะกินเลือดสัตว์มากกว่าคน มักชุกชุมเวลาพลบค่ำหลังพระอาทิตย์ตกดิน พบมากในภาคใต้ของประเทศไทย บางชนิดพบมากบริเวณชายแดนไทย-พม่า
อย่างไรก็ตาม การป้องกันอันตรายจากยุงเหล่านี้ก็คือ พยายามหลีกเลี่ยงไปในแหล่งที่ยุงชุกชุม ถ้าจำเป็นต้องไปบริเวณนั้น ก็ต้องสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายากันยุง หรือฉีดสเปรย์กันยุงเสมอ ส่วนรอบๆ บ้านเรือนที่พักอาศัย ก็ต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง คว่ำภาชนะทุกอย่างที่มีน้ำขัง และนอนในมุ้ง เป็นต้น
ที่มาข้อมูล : med.cmu.ac.th
ที่มาภาพบางส่วน : en.wikipedia.org